2615 จำนวนผู้เข้าชม |
สมุนไพรนอกจากจะสามารถใช้สด ๆ หรือทานเป็นอาหารแล้ว เรายังสามารถนำมาทำยาสมุนไพร ด้วยวิธีการต่างๆ การนำสมุนไพรไปปรุงเป็นยาเพื่อใช้บำบัดรักษาหรือบรรเทาอาการของโรค มีการนำไปใช้ 2 วิธีใหญ่ ๆ คือ ใช้แบบสดและใช้แบบแห้ง ซึ่งจะมีวิธีการปรุงยาที่แยกย่อยไปอีก ตามตำราแพทย์แผนไทยมีทั้งหมด 24 วิธีด้วยกัน แต่ในที่นี้จะขอนำเสนอวิธีปรุงยาที่สามารถทำเองง่าย ๆ ไว้ใช้ในครัวเรือน ได้แก่ การต้มชง การทำเป็นแคปซูล ลูกกลอน การดอง
1. การชง(Infusion)
การชงเป็นวิธีพื้นฐานและง่ายสำหรับการปรุงยาสมุนไพร มีวิธีการเตรียม ภาชนะที่ใช้ชงควรเป็นแก้วหรือเหมือนกับการชงชา โดยใช้น้ำเดือดเทลงไปในสมุนไพร ใช้ได้ทั้งสมุนไพรสดและแห้ง แต่มักใช้สมุนไพรตากแห้งทำยาชง หรือบดเป็นผงชงกับน้ำร้อนก็ได้ ภาชนะเคลือบ ไม่ควรใช้ภาชนะโลหะ ควรชงยาสมุนไพรสดใช้ในแต่ละวันชงแล้วดื่มทันที ไม่ทิ้งไว้นานดื่มวันละ 3 ครั้ง ดื่มร้อนหรือเย็นก็ได้สมุนไพรบางชนิดที่มีสรรพคุณไม่รุนแรงใช้ดื่มแทนน้ำได้ เช่น ขิง มะตูม เก๊กฮวย เป็นต้น
2. การต้ม(Decoction)
การต้มเป็นวิธีการที่สกัดด้วยยาสมุนไพรได้ดีกว่าการชง โดยใช้สมุนไพรสดหรือแห้งต้มรวมกับน้ำ มักใช้รากไม้ เปลือกไม้ กิ่งก้าน เมล็ดหรือผลบางชนิด
วิธีการเตรียมทำโดยการหั่นหรือสับสมุนไพรเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ลงในหม้อต้ม แล้วใส่น้ำลงไปให้ท่วมยาเล็กน้อย ใช้ไฟขนาดปานกลางต้มจนเดือดแล้วจึงลดไฟให้อ่อน ควรคนยาเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้ยาไหม้ ตามตำราไทยมักจะต้มแบบ 3 เอา 1 คือใส่น้ำ 3 ส่วนของปริมาณที่จะใช้ แล้วต้มให้เหลือ 1 ส่วน แต่บางตำรา ก็ต้มแบบ 3 เอา 2 เช่นเดียวกับวิธีการชง สำหรับสมุนไพรสดควรทำวันต่อวัน หรือเก็บไม่เกิน 2-3 สำหรับสมุนไพรแห้งสามารถอุ่นดื่มได้ทุกวัน จนกว่ายาจะจืด ดื่มวันละ 2 ครั้ง ขณะที่ยังอุ่น
3. ผงแคปซูลและลูกกลอน(Powders Capsuls and Pills)
แคปซูล
การบรรจุแคปซูลให้ซื้อแคปซูลเปล่าสำเร็จรูปมา เทผงสมุนไพรลงในชามแก้วปากกว้าง ดึงแคปซูลออก 2 ส่วน จับทั้ง 2 ข้างเข้าหากันผ่านผงยาแล้วจึงสวมแคปซูลเข้าด้วยกันหรือบรรจุผงยาด้วยเครื่องบรรจุแคปซูลก็ได้
ยาลูกกลอน
เอาผงสมุนไพรใส่ชามปากกว้าง เติมน้ำผึ้งทีละน้อย นวดให้เข้ากันจนผงยาทั้งหมดเกาะกันและไม่เหนียวติดมือ ให้สังเกตปริมาณน้ำผึ้งที่ใช้ โดยปั้นลูกกลอนด้วยมือ ถ้าเละติดมือ ปั้นไม่ได้ แสดงว่าน้ำผึ้งมากไป ให้เติมผงยาเพิ่ม แต่ถ้าแห้งร่อนไม่เกาะกัน ปั้นไม่ได้หรือปั้นได้แต่เมื่อบีบเบาๆ จะแตกร่วน แสดงว่าน้ำผึ้งน้อยไป ให้เติมน้ำผึ้งลงไปอีก
เมื่อนวดผงยาได้ที่แล้ว ทำเป็นลูกกลอนได้ 2 วิธี คือ การใช้เครื่อง และการใช้มือคลึง โดยคลึงเป็นเส้นยาว ๆก่อน แล้วจึงเด็ดเป็นท่อน ๆ นำมาคลึงด้วยมือจนกลมใส่ถาดหรือกระจาดไปอบหรือตากแดด แล้วจึงนำมาบรรจุขวดหรือภาชนะที่มีฝาปิด
4. การดอง (Tincture)
การดองด้วยเหล้าหรือแอลกอฮอล์นี้ เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการสกัดตัวยาออกจากพืชสมุนไพร โดยการแช่สมุนไพรสดหรือแห้งในเหล้าหรือแอลกอฮอล์ เหมาะสำหรับสมุนไพรที่มีสารออกฤทธิ์ที่ละลายน้ำได้น้อย ใช้ได้กับทุกส่วนของสมุนไพร เหล้าหรือแอลกอฮอล์ที่ใช้ในการดอง นอกจากจะทำหน้าที่สกัดตัวยาจากสมุนไพรแล้วยังทำหน้าที่เป็นตัวกันบูดอีกด้วย ยาดองจึงเก็บไว้ใช้ได้นานเป็นปีเลยทีเดียว ตามตำราไทยมักจะใช้เหล้าขาว 28-40 ดีกรี
วิธีการ
1. ห่อสมุนไพรด้วยผ้าขาวบางอย่างหลวม ๆ เผื่อไว้หากยาพองตัวเวลาอมน้ำ ใส่ลงในขวดโหลแก้ว หรือโถกระเบื้อง เทเหล้าใส่ท่วมห่อยา ปิดฝาให้สนิทตั้งทิ้งไว้อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ และต้องเปิดฝาคนให้ทั่ว วันละ 1 ครั้ง
2. เมื่อดองครบกำหนดแล้ว เทยาดองใส่ขวด หรือภาชนะสีทึบ บีบยาดองออกจากห่อผ้าขาวบางให้หมด ปิดฝาให้สนิท
ข้อควรระวัง
สำหรับสตรีมีครรภืหรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่แพ้เหล้า ควรหลีกเลี่ยงการใช้รับประทานยาดอง เพราะอาจเกิดอันตรายขึ้นได้
Cr. thaikasetsart.com